วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ดอกมะลิ ดอกไม้ตัวแทนแห่งความรักที่บริสุทธิ์

ดอกมะลิ 
"ดอกมะลิ"ดอกไม้ที่หลายคนรู้จัก และนิยมปลูกเป็นไม้ดอกประดับไว้ตามบ้าน ดอกมะลิเป็นตัวแทนของความรักที่บริสุทธิ์ ด้วยเป็นดอกไม้ที่มีสีขาว มีกลิ่นหอม และยังถูกนำมาสร้างเป็นสัญลักษณ์ของ "วันแม่"


มะลิ เป็นพรรณไม้ยืนต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก จนถึงขนาดกลางบางชนิดมีลำต้นแบบเถาเลื้อย ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-3 เมตร มีเปลือกเป็นผิวสีขาว มีสะเก็ดรอยแตกเล็กน้อย ลำต้นเล็กกลมแตกกิ่งก้านสาขาไปรอบ ๆ ลำต้น ใบเป็นใบเดียวแตกใบเรียงกันเป็นคู่ๆ ออกดอกเป็นช่อ ออกตามส่วนยอดหรือตามง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวมีกลีบดอกประมาณ 6-8 กลีบ เรียงกันเป็นวงกลมหรือซ้อนกันเป็นชั้นแล้วแต่ชนิดของพันธุ์ ขนาดดอกบานเต็มที่กว้างโดยรอบประมาณ 2-3 ซม. มีผลเป็นรูปกลมรีเล็ก เมื่อสุกจะมีสีดำภายในมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด  ลักษณะของลำต้นและดอก จะมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์



มะลิมีมากมายหลายสายพันธุ์ เรามาทำความรู้จักกับ มะลิพันธุ์ต่าง ๆ กันครับ


มะลิลา
มีลักษณะเป็นไม้รอเลื้อย กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดียวออกเป็นคู่ตรงกันข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่ขอบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ มี 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน กลีบดอกชั้นเดียว ปลายกลีบมน ดอกสีขาว มะลิชนิดนี้ จะใช้ในการเด็ดดอกขาย



............................................................................................................

มะลิลาซ้อน
ลักษณะต้น ใบ อื่น ๆ คล้ายมะลิลา แต่ใบใหญ่กว่าดอกออกเป็นช่อ มี 3 ดอก และดอกกลางบานก่อน เช่นกัน แต่มีดอกซ้อน 3-4 ชั้น ปลายกลีบมน



............................................................................................................

มะลิถอด 

ลักษณะโดยทั่ว ๆ ไป ทั้งต้น ใบ การจัดเรียงของใบ รูปแบบของใบคล้ายมะลิลาซ้อน แต่ใบเป็นคลื่น ดอกเป็นช่อมี 3 ดอก ดอกซ้อนมากชั้นกว่า คือ 3-6 ชั้น ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ขนาดดอก 2.5-3.5 ซม.

.

...........................................................................................................


มะลิซ้อน 
ลักษณะทั่ว ๆ ไปคล้ายมะลิถอด และมะลิลาซ้อน แต่ใบมีลักษณะแคบกว่า ดอกออกเป็นช่อมี 3 ดอกเช่นกัน กลีบดอกซ้อน แต่ซ้อนกว่า 5 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบดอก 10 กลีบ ขึ้นไป ขนาดดอก 3-4 ซม. ดอกสีขาว กลิ่นหอมมาก





............................................................................................................

มะลิพิกุล 
หรือมะลิฉัตร 
มีลักษณะต่าง ๆ คล้ายกับ 4 ชนิดแรก ใบคล้ายมะลิซ้อนและมีคลื่นเล็กน้อย ดอกเป็นช่อ 3 ดอก ดอกซ้อนเป็นชั้น ๆ เห็นได้ชัด (คล้ายฉัตร) และดอกมีขนาดเล็กพอ ๆ กับดอกพิกุล ขนาดดอก 1-1.4 ซม. ดอกสีขาว กลิ่นหอม




............................................................................................................

มะลิทะเล 
เป็นไม้รอเลื้อย ดอกเป็นกระจุก ๆ หนึ่ง มี 5-6 ดอก กลิ่นหอมฉุน



............................................................................................................


มะลิพวง 
มีลักษณะลำต้นเป็นไม้พุ่ม กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน มีขนเห็นเด่นชัดเช่นกัน ใบและรูปแบบตลอดจนการจัดเรียง คล้ายมะลิอื่น ๆ แต่ใบมีขนเห็นเด่นชัด ดอกออกเป็นช่อแน่น สีขาวกลีบดอกชั้นเดียว กลีบเล็กยาว ปลายแหลม ขนาดดอก 3-4.5 ซม. มีกลิ่นหอมมาก



............................................................................................................

มะลิเลื้อย 

ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดินยาวประมาณ 1 ฟุต ใบเล็กกว่าพันธุ์อื่นมาก



............................................................................................................


มะลิวัลย์ หรือมะลิป่า
เป็นไม้เถาเลื้อย พาดต้นไม้อื่นหรือขึ้นร้าน ใบเล็กกว่าและยาวกว่ามะลิอื่น ๆ กลีบดอกเล็กยาว สีขาว กลิ่นหอมเย็นชืด




การขยายพันธุ์
   ต้นมะลินิยมขยายพันธ์ด้วยการปักชำ โดยใช้กิ่งพันธุ์กึ่งแก่กึ่งอ่อน ตัดให้มีความยาว 4 นิ้ว หรือถ้านับข้อควรมีอย่างน้อย 3 ข้อ การตัดควรตัดให้ชิดข้อ และดึงใบส่วนที่อยู่ด้านล่างทิ้ง แล้วนำไปปักชำลงบนแปลงเพาะชำ ควรเว้นระยะระหว่างแถวและกิ่ง 2 x 2 นิ้ว รดน้ำและสารเคมีป้องกันเชื้อรา เมื่อรากออกแล้วให้นำลงไปปลูกในถุง 2 x 3 นิ้ว ใส่ดินมีขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก เมื่อต้นมะลิแข็งแรงแล้วจึงนำไปปลูกต่อไป

การเพาะปลูก
ต้นมะลิ ต้องปลูกในช่วงฤดูฝน คือ เดือน มิถุนายน ถึง กรกฏาคม ของทุกปี โดยการขุดหลุมที่มีความกว้างลึกและยาวด้านละ 50 ซม. ใส่ปุ๋ยคอก และวัสดุอื่น ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน หลังจากนั้นให้นำต้นมะลิลงปลูก มะลิเมื่อโตควรได้รับแสงแดดเต็มที่ เพื่อให้ออกดอกดก  

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ลีลาวดี ไม้ดอกและไม้ประดับที่ออกดอกตลอดทั้งปี














"ลีลาวดี" หรือลั่นทม ไม้ยืนต้นที่หลายๆ คนรู้จักส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้าน ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ที่พัก โรงแรม รีสอร์ต แม้กระทั่งสถานที่สำคัญต่างๆ เนื่องจาก ลีลาวดี เป็นไม้ที่มีใบเขียวสวยงามคล้ายปีกนก มีใบดก และออกดอกให้ได้ชมกันตลอดทั้งปี ไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเม็กซิโก และอเมริกาใต้ ชอบแสงแดดจัด ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามากมายนัก

ลักษณะของดอกลีลาวดี มีขนาดกว้าง 2-6 นิ้ว มีกลีบดอก 5 กลีบ มีกลิ่นหอม และมีเกสรตัวผู้ เกสรตัวเมีย อยู่ลึกเข้าไปข้างใน ดอกของ ลีลาวดีมีหลายสีให้คุณได้เลือกปลูก มีสีขาว แดง เหลือง ชมพู ส้ม ม่วง สีทอง เมื่อมีผลจะออกเป็นฝักคู่ รูปยาวรี กว้างประมาณ 1.5 - 15 ซม. เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดแบนมีปีก ลีลาวดีมีอายุที่ยาวนานนับ 100 ปี



การปลูก และการดูแลรักษา

การปลูกลีลาวดี ควรปลูกบนดินร่วนปนทราย ดินควรมีปริมาณอินทรียวัตถุที่เหมาะสม สามารถดูดความชื้นได้ ในขณะเดียวกันต้องมีการระบายน้ำที่ดี ค่าพีเอชที่เหมาะสมในการปลูกลีลาวดีควรจะมีระหว่าง 6.4 ถึง 6.8 (มีกรดเล็กน้อยถึง 7 คือระดับกลาง)

ลีลาวดี สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่กันดาร ดินไม่อุดมสมบูรณ์มากนัก ลีลาวดีชอบความชื้นในอากาศสูงและไม่ชอบอยู่ในดินที่มีน้ำท่วมขังหรือมีการรดน้ำบ่อยครั้ง การปลูกควรเน้นการระบายน้ำหรือการยกร่องในแปลงปลูกเป็นหลัก ลีลาวดีเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดในเวลากลางวันอย่างน้อยครึ่งวัน แต่หลายชนิดต้องการแสงแดดเต็มวัน ยกเว้นบางชนิดที่มีดอกสีแดงซึ่งจะชอบการพรางแสงมากกว่า

การขยายพันธุ์ลีลาวดี

1. การปักชำลีลาวดี เป็นการขยายพันธ์ุเดิมเอาไว้  เป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และได้รับความนิยมมากสุด และได้ลักษณะสายพันธุ์เดียวกับต้นแม่พันธุ์์มากสุด การปักชำควรทำในฤดูก่อนฤดูฝนปลายเดือนมีนาคม จนถึงต้นเดือนมิถุนายน จะได้ผลดีกว่าปักชำในช่วงเดือนอื่นๆ การชำกิ่งสามารถทำได้ตลอดปี แต่ควรมีการเลือกต้นพันธุ์และวิธีปฏิบัติ ได้แก่ การเลือกกิ่งที่มีความสมบูรณ์ และตัดกิ่งให้อยู่ในมุมที่สูงกว่าใบที่ร่วง แล้วนำไปวางไว้ในที่ร่ม 3-4 วัน ให้แผลแห้งก่อนนำมาเพาะชำ เป็นการป้องกันการติดเชื้อรา ก่อนนำมาชำ ควรเด็ดใบที่ยอดออก เพื่อให้มีการเร่งรากง่ายขึ้น

2. การเพาะเมล็ดลีลาวดี เป็นการนำฝักที่แก่จัด มาเพาะในกระถางเพาะ หรือดินที่เตรียมสำหรับเพาะปลูก เมล็ดของลีลาวดี งอกได้ง่าย ใน 1 ฝักจะได้ต้นกล้า 50 -100 ต้น ลีลาวดีที่ได้จากการเพาะให้ผลดีตรงที่มีรากแก้ว ทำให้ลำต้นแข็งแรง ทนต่อโรค

3. การเปลี่ยนยอด เป็นการนำกิ่งพันธุ์ที่ดี มาเปลี่ยนยอดบนต้นตอที่เพาะพันธุ์ไว้ หรือต้นที่มีความทนทานต่อโรค หรือต้องการทำให้ภายในต้นเดียวมีหลายสี หลายสายพันธ์ุ โดยการเสียบด้านข้างลำต้นหรือผ่าเป็นลิ่ม วิธีนี้ต้องไม่ให้น้ำเข้า เพื่อป้องกันเแผลเน่า ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้

4. การติดตา เป็นการใช้ตาจากต้นที่มีสายพันธุ์ดี มาติดเข้ากับกิ่งของต้นที่มีความทนทานต่อโรค ที่เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง เมื่อโตขึ้นอาจมีหลายสีหลายสายพันธุ์ กิ่งหนึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก